ใครๆก็แก้กฎหมายได้(คุณก็ด้วย)
Bookmark and Share

วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2552

กรุณา กุศลาสัย

กรุณา กุศลาสัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กรุณา กุศลาสัย
นามปากกา: กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย
เกิด: 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2463
ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์
เสียชีวิต: 14 สิงหาคม พ.ศ. 2552
อาชีพ: นักเขียน นักหนังสือพิมพ์
คู่สมรส: เรืองอุไร หิญชีระนันท์ (พ.ศ. 2492 - ปัจจุบัน)

กรุณา กุศลาสัย (10 พฤษภาคม พ.ศ. 2463 - 14 สิงหาคม พ.ศ. 2552) เป็นนักเขียนบทความและสารคดี เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาฮินดี ภาษาสันสกฤต และวัฒนธรรมอินเดีย ได้รับการเชิดชูเกียรติ รางวัลศรีบูรพา ประจำปี พ.ศ. 2538 รางวัลนราธิป ประจำปี พ.ศ. 2544 และ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2546 ผลงานที่มีชื่อเสียง คือ ผลงานแปลกวีนิพนธ์ "คีตาญชลี" ของรพินทรนาถ ฐากูร และอัตชีวประวัติ ชื่อเรื่อง "ชีวิตที่เลือกไม่ได้"

กรุณา กุศลาสัย เดิมชื่อ นายกิมฮง แซ่โค้ว [1] เกิดในเรือกระแชง หน้าวัดตะแบก ตำบลแควใหญ่อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ บิดามารดามีเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว มีอาชีพค้าขายทางเรือ แต่เสียชีวิตเมื่อกรุณายังเด็ก จึงเติบมาโดยการเลี้ยงดูของน้าสาว เมื่อน้าสาวเสียชีวิตจึงได้ไปบวชเป็นสามเณร เมื่อ พ.ศ. 2476 เมื่ออายุ 13 ปี ในโครงการ "พระภิกษุสามเณรใจสิงห์" ของพระโลกนาถ พระสงฆ์ชาวอิตาลี (มีชื่อเดิมว่า Salvatore Cioffi) เพื่อนำภิกษุสามเณรจากประเทศไทย พม่า ศรีลังกา ไปศึกษาอบรมที่ประเทศอินเดีย

กรุณา ได้ศึกษาภาษาฮินดี ภาษาสันสกฤต และภาษาอังกฤษจนเชี่ยวชาญ สอบภาษาฮินดีได้ที่ 1 ของอินเดีย ได้รับทุนการศึกษาจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เมื่ออายุเพียง 18 ปี [2] และเริ่มเขียนข่าวและบทความ ส่งมาตีพิมพ์ในประเทศไทย ในวารสาร ธรรมจักษุ พุทธศาสนา และ ประชาชาติ ใช้นามปากกา "สามเณรไทยในสารนาถ" จากนั้นได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยวิศวภารติ ศานตินิเกตัน แคว้นเบงกอลตะวันออก ของท่านรพินทรนาถฐากูร เมื่อ พ.ศ. 2482

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง สามเณรกรุณาถูกจับเป็นเชลยศึก เนื่องจากเป็นพลเมืองไทย ซึ่งเป็นประเทศคู่สงครามกับอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้ปกครองอินเดีย และต้องเข้าค่ายกักกันในนิวเดลี พร้อมกับพระโลกนาถ และเฟื้อ หริพิทักษ์ ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิศวภารติ ศานตินิเกตัน ในขณะนั้น กรุณาได้ลาสิกขาบท และพบรักกับโยโกะ โมริโมโตะ เชลยชาวญี่ปุ่นในค่ายเดียวกัน แต่ทั้งคู่ได้แยกจากกันหลังสงครามสงบ [3]

หลังสงคราม กรุณาเดินทางกลับประเทศไทย โดยไม่ศึกษาต่อให้จบ และทำงานเป็นครูสอนภาษาสันสกฤต ภาษาอินเดีย และภาษาไทย ที่อาศรมวัฒนธรรมไทย–ภารต จากนั้นได้เป็นล่าม พนักงานแปล และเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ประจำสถานกงสุลอินเดีย (ต่อมาเป็นสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย) และเป็นผู้บรรยายวิชาธรรมภาคภาษาอังกฤษ ที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ขณะทำงานอยู่ที่สถานทูตอินเดีย กรุณา กุศลาศัย ได้เป็นผู้แทนของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปเปิดความสัมพันธ์กับประเทศจีน และเมื่อทำงานหนังสือพิมพ์ก็ได้เดินทางไปกับคณะผู้แทนการค้า ร่วมคณะกับสุวัฒน์ วรดิลก กุหลาบ สายประดิษฐ์ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี แต่ครั้งหลัง เมื่อเดินทางกลับมาในปี พ.ศ. 2501 ภายหลังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ยึดอำนาจจากจอมพลถนอม กิตติขจร จึงถูกจับ และขังที่เรือนจำลาดยาว ด้วยข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พร้อมกับนายสังข์ พัธโนทัย และนายอารีย์ ภิรมย์ ต้องติดคุกอยู่เป็นเวลา 9 ปี จึงได้รับอิสรภาพ หลังจากล้มป่วยด้วยอาการทางสมอง และศาลอนุญาตให้ประกันตัว เพื่อไปรักษาตัวที่บ้าน และได้รับการถอนฟ้อง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2512 [3]

กรุณา กุศลาศัย สมรสกับ เรืองอุไร กุศลาสัย (หิญชีระนันท์) เมื่อ พ.ศ. 2492 และใช้ชีวิตคู่มาจนถึงปัจจุบัน ผลงานเขียนส่วนมาก เป็นงานร่วมกันของ "กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย" ปัจจุบันกรุณา กุศลาศัย ล้มป่วยด้วยโรคพาร์คินสัน และมีอาการของโรคสมองเสื่อม [4] กรุณา กุศลาศัย เสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2552

[แก้] คำขอร้องเกี่ยวกับการตายของพ่อ

ถึง เกษ ยุ้ย และ กือ ลูกรักทั้งสามคน ด้วยพ่อได้คำนึงถึงวัยและสังขารของตนเองเห็นว่า ความชราได้เข้ามาครอบงำพ่อทั้งในด้านรูปธรรมและนามธรรม ไม่ควรจะตั้งอยู่ในความประมาท จึงใคร่ขอร้องลูกทั้งสามคน ทั้งโดยส่วนตัวแต่ละคน และโดยส่วนรวมร่วมกันทั้งสามคน ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้ ในกรณีที่พ่อถึงแก่ความตาย

๑.ให้รีบติดต่อแจ้งการตายต่อเขตท้องที่ภายใน ๒๔ ชั่วโมง เพื่อขอมรณบัตร การขอมรณบัตรต้องนำทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนของพ่อไปแสดง (พ่อได้ถ่ายสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนไว้เรียบร้อย และได้มอบไว้กับลูกแต่ละคน คนละ ๑ ชุดแล้ว)

๒.โดยที่พ่อได้อุทิศตนเป็นวิทยาทาน ขอให้แจ้งการตายให้เจ้าหน้าที่ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ทราบ-ภายใน ๒๔ ชั่วโมง (โทรศัพท์หมายเลข ๔๑๑-๒๐๐๗ หรือ ๔๑๑-๐๖๔๑-๙ ต่อ ๓๐๕, ๓๐๗, ๓๑๒) เจ้าหน้าที่จะมาฉีดยารักษาศพ และรับศพไปเก็บไว้ที่โรงพยาบาล

๓.หากจะทำพิธีทางศ่าสนาให้พ่อ ขอให้ใช้สถานที่วัด ซึ่งจะเป็นวัดใดก็แล้วแต่จะสะดวก พิธีนั้นขอให้เรียบง่าย ไม่ต้องนำศพมาจากโรงพยาบาล หากให้ใช้รูปถ่ายของพ่อซึ่งพ่อได้จัดพิมพ์ขยายไว้เรียบร้อยแล้ว ตั้งแทนหีบศพ พิธีไม่ควรจะยืดเยื้อเกิน ๓ วัน และควรจะสิ้นสุดลงด้วยการฟังเทศน์และทำบุญเลี้ยงพระตามประเพณี

๔.หลังจากเสร็จพิธีทางศาสนาแล้ว ขอให้ลงแจ้งความข่าวการตายของพ่อในหนังสือพิมพ์รายวันเป็นเวลา ๗ วันติดต่อกัน โดยมีข้อความต่อไปนี้ "นายกรุณา กุศลาสัย ถึงแก่กรรมด้วยโรค...เมื่อวันที่...เดือน...พ.ศ...รวมอายุได้...ปี เจ้าภาพได้จัดการศพเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่...เดือน...พ.ศ...ผู้ตาย ประสงค์ให้เรียนให้ผู้เคารพนับถือทราบทั่วกันโดยแจ้งความนี้ และขอประทานอภัย หากได้ล่วงเกินท่านผู้ใดด้วยกาย วาจา และใจ ในระหว่างที่มีชีวิตอยู่"

หวังว่าลูกทั้งสามคนคงจะช่วยสงเคราะห์พ่อเป็นครั้งสุดท้ายด้วยการปฏิบัติให้คำขอร้องข้างต้นของพ่อลุล่วงไปโดยดี

กรุณา กุศลาสัย

(นายกรุณา กุศลาสัย)

วันที่ ๑๓ เดือน มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๙

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ นายกรุณา กุศลาสัย บุคคลสำคัญของจังหวัดนครสวรรค์
  2. ^ คำเชิดชูเกียรติ นายกรุณา กุศลาสัย ศิลปินแห่งชาติ
  3. ^ 3.0 3.1 กองทุนศิลปินครูบ้านป่า สลา คุณวุฒิ
  4. ^ หนังสือพิมพ์ ข่าวสด วันอังคารที่ 5 มิถุนายน 2550
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%B2_%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B8%A8%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%A2

--
      Weblink
http://ilaw.or.th
www.patani-conference.net
http://www.thaihof.org
http://thainetizen.org
http://www.ictforall.org
http://elibrary.nfe.go.th
http://www.thaisara.com
http://www.rmutr.ac.th
http://www.bedo.or.th/default.aspx
http://weblogcamp2009.blogspot.com
http://seminarmon.blogspot.com
http://seminartue.blogspot.com
http://seminarwed.blogspot.com
http://seminarthu.blogspot.com
http://seminarfri.blogspot.com
http://seminar1951.blogspot.com
http://seminardd.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น