ใครๆก็แก้กฎหมายได้(คุณก็ด้วย)
Bookmark and Share

วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2552

น้ำจะท่วมฟ้าปลาใหญ่น้อยคอยกินดาว เผชิญหน้าภัยพิบัติในอนาคต



วันที่ 01 สิงหาคม พ.ศ. 2552 เวลา 09:14:16 น.  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 

น้ำจะท่วมฟ้าปลาใหญ่น้อยคอยกินดาว เผชิญหน้าภัยพิบัติในอนาคต

โหราจารย์และนักวิชาการบางสำนักเผยคำทำนายว่าในเวลาไม่ช้าไม่นานนี้ประเทศไทยจะเกิดภัยพิบัติ อย่างรุนแรง บ้างโหนกระแสโลกร้อนชี้ว่ากรุงเทพฯ จะจมน้ำ

โหราจารย์และนักวิชาการบางสำนักเผยคำทำนายว่าในเวลาไม่ช้าไม่นานนี้ประเทศไทยจะเกิดภัยพิบัติ อย่างรุนแรง บ้างโหนกระแสโลกร้อนชี้ว่ากรุงเทพฯ จะจมน้ำ โดยยกตัวอย่างการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งบางขุนเทียนมาอ้างอิงเกจิบางคนถึงกับประเมินความเสียหายแล้วเสนอแนะว่า  รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในการเตรียมย้ายเมืองหลวงหนีน้ำตั้งแต่วันนี้ด้วยซ้ำ  20 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยประสบกับภัยธรรมชาติอยู่หลายครั้ง  ส่วนใหญ่เป็นการเกิดอุทกภัย บางปีน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมดินโคลนถล่ม  และที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับคนทั้งโลกคือการเกิดแผ่นดินไหวใต้ท้องทะเลฝั่งอันดามันกลายเป็นคลื่นยักษ์ ′สึนามิ′ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 พบผู้เสียชีวิตมากมายในหลายประเทศและแม้ว่าการทำงานของภาครัฐได้พยายามที่จะพัฒนาเทคโนโลยีสร้างเครื่องมือเตือนภัยทันสมัยมากขึ้นเท่าไร  แต่ดูเหมือนว่าในการโยงภัยพิบัติเข้ากับคำทำนาย ′วันสิ้นโลก′ ของหลายสำนักกลับสร้างกระแสความเชื่อให้คนไทยมากกว่า

 

ล่าสุดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ′สุริยคราส′ ก็ไม่รอดพ้นจากการทำนายของโหร และการทำพิธีแก้เคล็ด ′กบกินเดือน′ ของพระบางวัด ′หลังจากวันที่ 22 ตุลาคม 2552 ไปแล้ว การเมือง เศรษฐกิจและสังคมจะดีขึ้น′ เป็นข้อสรุปของโหราจารย์ หลังจากเพ่งตำแหน่งดวงดาว การทำความจริงให้ปรากฏ

 

อย่างไรก็ตาม หากตัดเรื่องความเชื่อส่วนบุคคล โดยนำเอาสถิติที่    หน่วยงานรัฐได้เก็บรวบรวมก็จะพบว่า การเกิดภัยพิบัติในประเทศไทย มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งอุทกภัยสร้างความเสียหายมากที่สุดอันเนื่องมาจากการตัดไม้ทำลายป่าของมนุษย์

 

เช่นเดียวกับความเห็นของ นายวรวุฒิ ตันติวนิช ผู้เชี่ยวชาญ  เฉพาะด้าน ที่ปรึกษาทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณี ในระหว่างสัมมนาเรื่อง "ปัญหาภัยธรรมชาติด้านแผ่นดินไหว อุทกภัยและดินโคลนถล่ม" ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาพื้นที่การเกษตรและชุมชนที่ประสบภัยธรรมชาติ วุฒิสภา ซึ่งเน้นย้ำว่าการปฏิบัติกับภัยธรรมชาติที่สำคัญที่สุดคือ "การทำความจริงให้ปรากฏ"

 

เพราะนอกจากการนั่งทางใน ใช้ญาณวิเศษเพ่งนิมิตแล้ว นายวรวุฒิให้ความเห็นว่าปัญหาคือนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องภัย  ธรรมชาติส่วนใหญ่พูดความจริงเพียงครึ่งเดียว

 

สำหรับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศไทยบ่อยที่สุดคือน้ำท่วม เนื่องมาจากสภาพภูมิประเทศที่มีลมมรสุมพัดผ่านอยู่เสมอ เมื่อฝนตกหนักทำให้หลายครั้งเกิดดินโคลนถล่มบ้านเรือนเสียหาย แต่ที่พบได้น้อยและโอกาสเกิดได้ยากที่สุดคือแผ่นดินไหว

อุทกภัยพินาศแสนล้าน

 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัยสรุปสถานการณ์อุทกภัยของประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ.2532-2551 (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2551) พบว่ามีการเกิดเหตุ 208 ครั้ง ความเสียหายด้านทรัพย์สินและสาธารณประโยชน์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 110,516,117,089 บาท มีราษฎรได้รับผลกระทบจากอุทกภัยกว่า 75 ล้านคน ใน 19 ล้านครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2,885 คน   ความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วมากกว่าแสนล้านบาทนี้ทำให้เกิดคำถามที่ว่าสังคมไทยได้ตระหนักและมีมาตรการป้องกันต่อภัยพิบัติในอนาคตอย่างไร

 

นายสุพัตร วัฒยุ ผู้อำนวยการสำนักอุทกวิทยาและบริหารน้ำ กรมชลประทาน เปิดประเด็นเพื่อสร้างความเข้าใจในเบื้องต้นว่าทำไมน้ำถึงท่วม โดยอธิบายถึงสาเหตุที่จะทำให้น้ำท่วมว่ามีอยู่ 3 ปัจจัย คือ 1.น้ำ      ถ้ามีปริมาณเยอะ ก็สามารถทำให้ท่วมได้ 2.แม่น้ำ ถ้าทางไหลของน้ำมีขนาดเล็กก็ทำให้น้ำท่วมได้ และ 3.พื้นที่ ถ้าขนาดพื้นที่ระบายน้ำแคบ ก็ทำให้น้ำท่วมได้

 

ถ้าไม่มีอันใดอันหนึ่ง ก็จะไม่เกิดน้ำท่วม ถ้าปริมาณน้ำมีเยอะ แต่แม่น้ำมีขนาดเล็ก แน่นอนมันล้นตลิ่ง เมื่อล้นตลิ่งแล้วจะท่วมไปไกลไหม ก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่น้ำจะท่วม  ถ้าจะดูว่าทำไมน้ำมันเกิดขึ้นมากได้อย่างไร สิ่งที่เป็นปัจจัย 4 เรื่องที่จะเป็นสาเหตุทำให้น้ำท่วม เรื่องแรกคือตัวฝน ซึ่งเราคุมไม่ได้ ฝนตกหนัก คือหากตกลงมา 100 มิลลิเมตร ใน 1 ชั่วโมง ถ้าไม่มีเครื่องเตือน เราจะทำอย่างไร กะละมังง่ายที่สุด ว่าชั่วโมงนั้นฝนตกกี่มิลลิเมตร หากปริมาณน้ำฝนมีความสูงวัดได้ 10 เซนติเมตร ก็คือ 100 มิลลิเมตร เป็นวิธีการง่ายๆ โดยไม่ต้องอาศัยอะไรมากนัก แต่ถ้ามีก็ดี คือมีสิ่งที่เตือนภัยก็จะดี

 

นายสุพัตรกล่าวอีกว่า เมื่อฝนตกมีปริมาณมาก ความเข้มของฝน พืชคลุมดิน ชนิดของดินในการดูดซึม ก็จะเป็นปัจจัยที่มีส่วนทำให้เกิดน้ำมากหรือน้ำน้อย ′ฝนที่ตกลงมาส่วนหนึ่งก็ค้างอยู่ตามใบไม้ ต้นไม้ กอหญ้า ถ้าความหนาแน่นของพืชคลุมดินมาก ก็จะทำให้การดักน้ำเอาไว้มากไปด้วย เหลือน้ำที่จะไหลลงมาสู่ดินได้น้อย แต่พืชคลุมดินนี้เองที่มนุษย์ชอบไปทำลาย ลืมนึกไปว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต่อต้านไม่ให้น้ำไหลอย่างรวดเร็ว นี่เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข ต้องทำให้ดีขึ้น′

 

"เมื่อมีการดักน้ำได้แล้ว ก็มาถึงว่าดินซึมได้มากหรือไม่ ถ้าดินซึมได้มาก ก็จะเหลือปริมาณน้ำที่จะไหลบนผิวดินน้อย เป็นหลักการง่ายๆ ซึ่งสภาพดินจะสูญเสียการซึมน้ำ ก็เกิดมาจากคนอีกเช่นกัน จากการใช้ปุ๋ย การเผาป่า การทำลายหน้าดิน และเมื่อดินซึมน้อย น้ำไหลมาก ก็ต้องมาดูว่าน้ำจะไหลเร็วขนาดไหน คือความลาดชัน′

′เพราะฉะนั้น ทำไมน้ำหลาก จึงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่ามันหลากได้อย่างไร ในหนึ่งวัน 1 ชั่วโมงที่ฝนตก 100 มิลลิเมตร ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดน้ำหลากมาก แต่ถ้ามันเทลงมา 1 ชั่วโมง 100 มิลลิเมตรเมื่อไร น้ำไหลทันที จากเหตุผล 4 ข้อ คือ 1.ปริมาณความเข้มของฝน 2.พืชคลุมดิน 3.ชนิดของดิน 4.ความลาดชัน"

 

นายสุพัตรกล่าวว่า อีกส่วนหนึ่งที่เป็นปัจจัย คือตัวแม่น้ำ ร่องน้ำ ถ้าร่องน้ำใหญ่พอ ก็จะไม่มีการล้นตลิ่ง แต่คนก็มักที่จะไปบุกรุกร่องน้ำ มีการถมดิน ปลูกพืช จนขนาดของร่องน้ำเหลือน้อย ทำให้น้ำที่เคยไหลได้ ก็กลายเป็นไหลไม่ได้ ซึ่งก็เป็นปัญหาจากคนอีกเช่นกัน ที่ทำให้น้ำท่วม  โดยลักษณะน้ำท่วมในพื้นที่เชิงเขานั้น จะเป็นการท่วมที่รุนแรง รวดเร็ว มาเร็ว หมดเร็ว ในช่วงเวลาสั้นๆ เช่น กรณีที่บ้านน้ำก้อ มีเวลาการเกิดเหตุอยู่ที่ 1 ชั่วโมง ซึ่งเป็นธรรมชาติของน้ำก้อ หากหนีไม่ทัน ก็จะต้องถูกน้ำท่วม เป็นลักษณะทางอุทกวิทยาของแม่น้ำแต่ละลุ่มที่จะเป็นเช่นนี้ตลอดไป ในขณะที่การเกิดน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ราบ จะมีลักษณะค่อยๆ มาช้าๆ แต่อยู่ยาว แล้วไม่สูงมาก หากมีพื้นที่ราบไม่พอ ก็จะเกิดการท่วมกินอาณาเขตไกลและกว้าง

ปฏิบัติการสู้น้ำท่วม

 

ผอ.สำนักอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวว่า พื้นที่ซึ่งปัจจุบันนี้เกิดน้ำท่วมเป็นประจำคือ จ.สุโขทัย จ.พิจิตร จ.นครสวรรค์ จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง  "ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเรามีสถานีวัดน้ำอยู่ที่ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ซึ่งในปี 2549 มีระดับน้ำขึ้นมาอยู่ที่ 5,900 มิลลิเมตรต่อวินาที ในขณะที่ตัวแม่น้ำรับได้แค่เพียง 3,000 มิลลิเมตรต่อวินาที โดยแม่น้ำเจ้าพระยาที่ท้ายเขื่อน จ.ชัยนาท รับน้ำได้แค่ 2,800 มิลลิเมตรต่อวินาที หากน้ำมาถึงที่ จ.ชัยนาทเกิน 2,200 มิลลิเมตร  ต่อวินาทีเมื่อไร จ.พระนครศรีอยุธยาก็เตรียมรับมือน้ำท่วมได้ทันที"

 

"ถ้าเราจะเอาอยู่ไม่ให้เกินโดยแต่ละที่ ซึ่งก็มีความจุของตัวเอง เรามีคันกั้นน้ำ แต่คนที่จะเดือดร้อนก็คือคนที่อาศัยอยู่ระหว่างแม่น้ำกับคันกั้นน้ำ จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง จ.พระนครศรีอยุธยา หากล้นตลิ่ง คือเกิน 4,000 มิลลิเมตรต่อวินาทีเมื่อไร อย่างไรเราก็สู้ไม่ได้ ณ เวลานี้ ถ้าเราไม่สร้างเครื่องมือที่จะสู้"


"ปัจจุบันที่เราจะสู้กับน้ำอย่างไรนั้น ประการแรก คือเราต้องรู้จักน้ำ ต้องรู้ทัน โดยการไปวัดเป็นจุดสีเหลือง จุดสีเขียว       ในแม่น้ำสายหลักตอนนี้มีทั้งหมด 718 แห่งทั่วประเทศ ใช้คนไปยืนวัดแล้วรายงานมาเป็นรายชั่วโมง มีทั้งประเภทอิเล็กทรอนิกส์ส่งสัญญาณมาทุก 1 นาที แต่สิ่งที่เราขาดไปในหลายๆ ปีที่ผ่านมา คือการรู้ล่วงหน้า  เรารู้ทันน้ำก็จริง แต่เราไม่รู้ล่วงหน้า เราไม่รู้ว่าแผนจะมาอย่างไรบ้าง ก็มีการพยายาม     ทำกันหลายกรม คือระบบโทรมาตร ซึ่งสามารถวัดน้ำได้ทุก 1 นาที แล้วเก็บข้อมูลทุก 15 นาที แล้วส่งข้อมูลเข้ามายังระบบพยากรณ์ ก็จะบอกได้ว่าในแต่ละวัน น้ำแต่ละสถานีจะสูงเท่าไร สามารถที่จะไปเตือนประชาชนได้ โดยเราได้ใช้ระบบ      โทรมาตรในแม่น้ำเจ้าพระยามาได้ 2 ปีแล้ว"

 

"เครื่องมือที่เรามี ณ วันนี้ โดยหลักการทั่วไปที่จะทำเครื่องมือขึ้นสู้ ก็มีอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน 1.คือการเก็บน้ำที่มาจากตอนบนเอาไว้ไม่ให้ไหลลงมาข้างล่าง 2.ส่วนที่ไหลลงมาแล้วจัดหาทางระบาย ถ้าหาได้มาก  ได้เพียงพอ น้ำก็จะไม่ท่วม ถ้าไม่เพียงพอ ก็ต้องมีระบบแก้มลิง จะต้องเอาไปไว้ตามทุ่งต่างๆ ในเรื่องการจัดหาแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ที่สร้างเอาไว้ของกรมชลประทาน หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมแล้วได้ 73,000  ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ประเทศไทย หากเอาจำนวนน้ำฝนบนผิวดินอยู่ที่ 8 แสนล้านลูกบาศก์เมตร ไหลลงดินไปประมาณ 2 แสนล้านลูกบาศก์เมตร   พูดง่ายๆ ก็คือว่าเราสู้ได้แค่ 70,000  ลูกบาศก์เมตร ปีไหนน้ำมากกว่านี้ เราก็สู้ ไม่ได้"

 

นายสุพัตรกล่าวว่า แผนที่วางเอาไว้ในอนาคตเพื่อสู้กับน้ำ มีการจัดหาแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กเป็นจำนวนค่อนข้างมาก แต่ก็ได้ความจุไม่มากนัก เพราะพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างเขื่อนใหญ่ๆ หมดไปแล้ว เหลือเพียงไม่กี่ที่เท่านั้น เช่น แก่งเสือเต้น

 

′จะไปหาพื้นที่ที่จุได้ตั้งแต่ 1 พันล้าน  ลูกบาศก์เมตรขึ้นไปนั้นไม่มีแล้วในประเทศไทย เครื่องมืออีกอย่างหนึ่งที่เราจะทำคือ     เครื่องมือทำให้น้ำไหลที่หน้าเขื่อนเจ้าพระยา เราจะปล่อยให้น้ำผ่าเขื่อนไปได้แค่ 2,200 ลูกบาศก์เมตร แล้วปล่อยน้ำออกซ้ายขวาได้นิดหน่อยประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตร อีก 1,000 ลูกบาศก์เมตรต้องหาที่ให้น้ำไปว่าจะไปทางไหนได้บ้าง มองไว้ 2 ทางคือ ทิศตะวันออก คลองชัยนาทป่าสักซึ่งกำลังศึกษาอยู่ให้ผ่านได้ประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตรแล้วลงทะเลไปเลย อีกทางหนึ่งคือทางด้านทิศตะวันตก ก็กำลังศึกษาเช่นกันให้เอาน้ำออกได้อีกประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตร ถ้าทำสำเร็จเราก็จะสู้กับน้ำได้ประมาณ 5,000 ลูกบาศก์เมตร       ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่สูงที่สุดที่เคยเกิด′

 

′ถ้าทำได้ เลิกท่วมเจ้าพระยาแน่นอน อีกวิธีหนึ่ง ก็คือการผันน้ำออก เช่น ลุ่มน้ำยม เพราะน้ำมาจากตอนบนมาก มาถึงสุโขทัยรับได้ 350 มิลลิเมตรต่อวินาที ถ้ามา 2,000 มิลลิเมตรต่อวินาทีจะทำอย่างไร ซึ่งมีโอกาสเกิดค่อนข้างมาก ถ้าขึ้นแก่งเสือเต้นได้ ช่วยได้แน่นอน อีกวิธีหนึ่ง ก็คือแก้มลิง ปัจจุบันศึกษาอยู่ที่บางบาล เป็นคลอง ระบาย แต่ยังไม่ได้ทำเป็นแก้มลิง เพราะมีหลายเรื่องที่กระทบกับสังคม กระทบกับประชาชน ต้องจ่ายค่าชดเชยที่ดิน ค่าน้ำท่วมให้เพียงพอ ศึกษาไว้หลายที่ เพื่อจะหาแนวทางที่เหมาะสม′

 

′สุดท้ายแล้ว ทั้งหมดนี้ต้องมาบริหารจัดการ ซึ่งทุกวันนี้เราก็ติดตามจากเว็บไซต์ จากโทรมาตรต่างๆ ที่กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำได้ดำเนินการไว้ ตัวอ่างเก็บน้ำ ที่ทุกวันนี้เราใช้เป็นเครื่องมือช่วยแก้ไขอุทกภัยมาหลายปี′

 

"ปีนี้จะเห็นว่าเขื่อนภูมิพล ต่อให้น้ำมากเท่าไรก็ไม่เต็ม เพราะฉะนั้น ถ้ามองถึงด้านการป้องกันอุทกภัย ปีนี้ท้ายเขื่อนภูมิพล สบายใจได้ เพราะจะไม่มีการระบายน้ำออกมาในช่วงเวลาน้ำมาก คาดว่าจะได้น้ำประมาณ 9 พันล้านลูกบาศก์เมตร เอาไว้ใช้ในฤดูแล้ง เขื่อนสิริกิติ์ก็คล้ายกัน แต่ก็ยังมีโอกาสเต็มอยู่บ้าง แต่สถิติที่เคยมี โอกาสน้อยมากในแง่ของอุทกภัย 2 เขื่อนนี้คลุม  ทุ่งเจ้าพระยาทั้งทุ่ง ถ้าปีนี้ฝนไม่ตกท้ายเขื่อนมากเกินไปจริงๆ น้ำไม่ท่วม"

"โดยภาพรวมแล้วสรุปว่า ปีนี้โอกาสเกิดอุทกภัยใน 2 ลุ่มน้ำใหญ่ๆ จากเครื่องมือที่ใกล้จะสมบูรณ์ โอกาสเกิดอุทกภัยจะค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะคนที่อยู่ท้ายเขื่อน สบายใจได้ รวมทั้งน้ำยมที่เราควบคุมไม่ได้ เพราะเราไม่มีเครื่องมือเลย ต้องบริหารกันอย่างเดียว จัดการน้ำอย่างเดียว ถ้าน้ำมา  ก็เอาเข้าแก้มลิงที่ทุ่งทะเลหลวงก่อน ออกซ้ายบ้าง ขวาบ้าง เท่าที่ทำได้ ส่วนทุ่งเจ้าพระยา ณ เวลานี้ น้ำยังนิดเดียว คาดว่าอุทกภัยจะไม่รุนแรงมากนัก"

                                         http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1249030307&grpid=07&catid=00

--
ขอเชิญอ่าน blog.Thank you so much.
http://www.parent-youth.net
http://www.familynetwork.or.th
http://www.tzuchithailand.org
http://www.presscouncil.or.th
http://ilaw.or.th
http://thainetizen.org
http://www.ictforall.org
http://icann-ncuc.ning.com
http://dbd-52.hi5.com
http://www.webmaster.or.th
http://www.thailandshowtime.com/2009

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น