ใครๆก็แก้กฎหมายได้(คุณก็ด้วย)
Bookmark and Share

วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2552

"สถาบันอุตฯสิ่งทอ"พัฒนางานวิจัยขายจริง

วันที่ 03 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11468 มติชนรายวัน


"สถาบันอุตฯสิ่งทอ"พัฒนางานวิจัยขายจริง


ผลิตภัณฑ์เส้นใยจากะลามะพร้าวและกล้วย



สถาบันพัฒนาอุตฯสิ่งทอเปิดแผนเชิงรุก แข่งขันในเวทีโลก วิจัยผลิตภัณฑ์ผสมกะลามะพร้าว เส้นใยกล้วย ขายเป็นเชิงพาณิชย์สำเร็จ

สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เผยผลสำเร็จของโครงการ "นำผลงานวิจัยไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ Functional Textiles ในเชิงพาณิชย์" เร่งสานต่อโครงการโรงงานต้นแบบสิ่งทอในอุตสาหกรรมฟอกย้อมส่งเสริมความร่วมมือระหว่างคลัสเตอร์สิ่งทอในจังหวัดสำคัญทั่วประเทศ พร้อมเตรียมนำหลากหลายนวัตกรรมสิ่งทอฝีมือคนไทยอย่างเส้นใยโพลีเอสเตอร์ผสมผงถ่านกัมมันต์จากกะลามะพร้าวและเส้นใยกล้วย ซึ่งได้รับรางวัล Prime Minister Award กลุ่มสินค้าแฟชั่นและสิ่งทอที่มีการออกแบบดี (DE Mark) จากกรมส่งเสริมการส่งออก โชว์ในงาน BIFF & BIL 2009 กลางเดือนสิงหาคมนี้

เรื่องนี้ นายวิรัตน์ ตันเดชานุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า งานเร่งด่วนของสถาบันฯ คือ การบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา ตามแผนแม่บทปี 2551-2555 โดยมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยทั้งระบบ สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการในขณะนี้ ได้แก่ โครงการ "นำผลงานวิจัยไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ Functional Textiles ในเชิงพาณิชย์" โครงการโรงงานต้นแบบสิ่งทอในอุตสาหกรรมฟอกย้อม (Pilot Plant) โครงการพัฒนาความสามารถบุคลากรด้านสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โครงการพัฒนาคลัสเตอร์และห่วงโซ่อุปทานในส่วนภูมิภาค โครงการศูนย์ข้อมูลสิ่งทอเชิงลึก เป็นต้น

สำหรับการดำเนินโครงการ "นำผลงานวิจัยไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ Functional Textiles ในเชิงพาณิชย์" ในปี 2551 ซึ่งร่วมมือกับภาคเอกชนค้นคว้าและวิจัย โดยใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาโดยคนไทย และวัตถุดิบในประเทศ มีส่วนสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มากมาย เช่น ผลิตภัณฑ์ไหมใยสั้น (spun silk yarn) และการตกแต่งสำเร็จด้วยกาวไหม (sericin) ซึ่งใช้ผลิตเสื้อโปโลหลายรูปแบบ, ผลิตภัณฑ์เส้นใยไนล่อนยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย, ผลิตภัณฑ์ผ้าเฟอร์นิเจอร์พีพี (polypropylene) ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียรายแรกของไทย, ผลิตภัณฑ์ผ้าเคลือบสมุนไพรและซิงค์นาโนกันไรฝุ่นระดับ 300 เส้น/นิ้ว รายแรกของโลก, และโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เส้นใยโพลีเอสเตอร์ผสมผงถ่านกัมมันต์จากกะลามะพร้าว ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นช่วยดูดกลิ่นและดูดความชื้น และเส้นใยกล้วย ซึ่งมีความมันเงาสวยงาม สามารถนำไปปั่นผสมกับเส้นใยอื่นได้อย่างหลากหลายและผลิตเป็นเป็นเครื่องนุ่งห่มที่มีจุดขายในแง่การเลือกใช้วัสดุที่มาจากธรรมชาติได้ ทั้งนี้ เส้นใยทั้งสองชนิดได้รับรางวัล Prime Minister Award กลุ่มสินค้าแฟชั่นและสิ่งทอที่มีการออกแบบดี (DE Mark) และจะเข้าร่วมประกวดรางวัล G-mark ที่ประเทศญี่ปุ่นต่อไป ผลงานต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกนำไปจัดแสดงในงาน BIFF & BIL 2009 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าแฟชั่นและเครื่องหนังระดับนานาชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน อีกด้วย

ส่วนโครงการแผนแม่บท 3 ปี เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี 2551 เพื่อเป็นโรงงานต้นแบบสิ่งทอ ฟอกย้อม พิมพ์ และตกแต่ง เพื่อการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ รวมถึงเพื่อร่นระยะเวลาและประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำสินค้าตัวอย่าง ซึ่งเป็นทางเลือกในการลองผิดลองถูกที่มีต้นทุนต่ำและคุ้มค่าที่สุดสำหรับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ผลิตผ้าฟอกย้อม รวมไปถึงผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปก็สามารถใช้บริการได้จากเครื่องจักร garment dyed (ตัดเย็บแล้วเสร็จก่อนนำมาฟอกย้อมสีภายหลัง) ทำให้ปัจจุบันมีผู้ประกอบการสนใจใช้บริการดังกล่าวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ การให้บริการของทางสถาบันฯ ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจใดๆ และสูตรสีที่ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกใช้จะถูกเก็บเป็นความลับอย่างเคร่งครัด

นวัตกรรมที่เป็นผลจากความสำเร็จของโครงการนี้ ซึ่งจะนำไปจัดแสดงในงาน BIFF & BIL 2009 เช่นกัน ได้แก่ ผ้ากัญชง ซึ่งเป็นวัตถุดิบตัดเย็บรองเท้าผ้าใบ converse ซึ่งเป็นแบรนด์ดังระดับโลก ผ้าตกแต่งสำเร็จด้วยไคโตซานสกัดจากเปลือกกุ้ง ที่ใช้ผลิตชุดชั้นในแอนไทแบคทีเรีย กรีนเท็กซ์ไทล์ จากเส้นใยกล้วย ซึ่งมีรางวัลจากกรมส่งเสริมการส่งออกประกันคุณภาพ เสื้อลายพราง เป็นต้น

"การร่วมมือผลิตของหลายโรงงานทำให้เกิดสินค้าที่ต่างจากท้องตลาด ขายได้มากขึ้น ทำให้มีรายได้กลับไปพัฒนาในผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ปัจจุบันมีโรงงานเข้าร่วมโครงการคลัสเตอร์แล้วประมาณ 80-90 โรงงาน" นายวิรัตน์ กล่าว

หน้า 32

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น