| วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2552 เวลา 15:30:16 น. มติชนออนไลน์ ตามไปดู 10 ประติมากรรมสุดเจ๋ง ผ่านไอเดียศิลปินบรมครู ณ สวนสาธารณะ เมืองฟ้าอมร โดย ภูเขาดินสอ
ศิลปะ คือ การสร้างสรรค์ด้วยสุนทรียภาพ, หรือสร้างอารมณ์ต่างๆ ให้เกิดขึ้นผ่านรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพ การปั้น การก่อสร้าง หรือแม้กระทั่งการประดิษฐ์ คุณค่าและการรับรู้ของศิลปะ ขึ้นอยู่กับมุมมองและความรู้สึกของผู้สร้างสรรค์ และผู้รับรู้ ว่าจะสัมผัสให้เข้าถึง รวมทั้งสื่อความหมาย จนกระทั่งตีความให้เป็นไปทางไหน ระยะหลังมานี้ ใครได้มีโอกาสใช้วันว่างไปสูดความร่มรื่นแห่งหมู่มวลแมกไม้ เขียวขจีที่อัดแน่นด้วยออกซิเจนและโอโซนบริสุทธิ์ในสวนสาธารณะทั่วกรุงเทพฯ อาทิ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) สวนลุมพินี หรือแม้กระทั่งสวนธนบุรีรมย์ อาจจะเคยเห็นประติมากรรมรูปร่างประหลาดตา ตั้งตระหง่านอยู่ให้ได้แปลกใจกันเล่น ว่า สิ่งนี้เป็นเพียงประติมากรรมที่เอามาตั้งประดับเพื่อความสวยงาทเท่านั้น หรือมีความหมายใดแฝงอยู่กันแน่ แนวคิด...ประติมากรรม นายขุนพล พรหมแพทย์ รองผู้อำนวยการสำนักผังเมือง หรือพี่ขุน กล่าวถึงประติมากรรมปริศนา ว่า ผลงานต่างๆ เหล่านี้ อยู่ภายใต้ "โครางการติดตั้งประติมากรรม" โดยความร่วมมือของ สำนักผังเมือง กทม. และมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน ตามนโยบายของนายอภิรรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อปลายปี 2550 ที่สานต่อเนื่องมายัง ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. คนปัจจุบัน ด้วยการนำตัวอย่างรูปแบบภูมิสถาปัตย์ของเมืองน่าอยู่ชื่อดังของต่างประเทศ มาเป็นแนวทาง แล้วใช้ศิลปะประยุกต์มาร่วมตกแต่งให้เข้ากับสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน ขณะเดียวกันก็เป็นการสะท้อนถึงความเป็นอยู่ของผู้คนในบริเวณนั้นๆ อีกด้วย โดยใช้งบประมาณเงินอุดหนุนจากรัฐบาลจำนวน 31 ล้านบาท ศิลปินผู้ร่วมสร้างสรรค์ สำหรับจำนวนประติมากรรมที่จะนำไปติดตั้งทั่วสวนสาธารณะในกรุงเทพฯ นั้นมีทั้งหมด 10 ชิ้นด้วยกัน ผ่านแนวคิดการออกแบบโดยฝีมือของศิลปินผู้มีชื่อเสียง ได้แก่ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ชาวอิตาเลียน ผศ.เขียน ยิ้มศิริ ศิลปินชั้นเยี่ยมอาวุโส อาจารย์นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ศิลปินแห่งชาติ Mr. Bettino Francini นายกกสมาคมประติมากรรมกับสิ่งแวดล้อมโลก ผศ.อนิก สมบูรณ์ ศิลปินอาวุโส รศ.เข็มรัตน์ กองสุข ศิลปินชั้นเยี่ยม รศ.วิชัย สิทธิรัตน์ ศิลปินระดับนานาชาติ และอาจารย์ศราวุธ ดวงจำปา ศิลปินระดับนานาชาติ โดยขณะนี้มีการนำร่องติดตั้งประติมากรรมไปแล้วจำนวน 4 ชิ้นผลงานด้วยกัน ส่วนอีก 6 ชิ้นที่เหลือกำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินงานซึ่งใกล้แล้วเสร็จอีกไม่นานนี้ ตามการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกันแล้วเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2552 ระยะเวลาดำเนินงาน 240 วัน สิ้นสุดสัญญาวันที่ 4 ก.ย. 2552 " การที่มีงานศิลปะ คือ ประติมากรรมอยู่ที่สวนสาธารณะ มันเป็นส่วนหนึ่งทำให้เมืองมีความสวยงาม มีคุณค่าของสถานทที่สะท้อน ให้เห็นถึงชีวิตผู้คน ซึ่งกทม. อยากมีประติมากรรมที่อยู่ในสถานที่ของสวนสาธารณะ ก็เลยคิดจะทำขึ้นมา ประกอบกับได้ประสานกับมหาวิทยาลัยศิลปากรว่า อยากได้ผลงานของประติมากรที่มีเชื่อเสียง โดยมีศิลปินที่มีชื่อเสียง รวมทั้งศิลปินแห่งชาติด้วยซึ่งเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ทางมหาวิทยาลัยโดยภาควิชาประติมากรรมได้มีโอกาสที่จะได้นำเสนอผลงานทางด้านประติมากรรมออกมาสู่สายตาของสาธารณชน ในมุมกว้าง" นายขุนพล กล่าว ประชาชนได้อะไร ? สำหรับประโยชน์ ที่ประชาชนจะได้รับ แม้อาจประเมินเป็นผลงานที่อธิบายแทนคำตอบเป็นรูปธรรมชัดๆ เลยไม่ได้ แต่พี่ขุน กล่าวว่า ของอย่างนี้เป็นเรื่องทางด้าน ความรู้สึก บางคนเห็นก็ชอบบางคนเห็นก็งั้นๆ บางคนก็ไม่ชอบ ก็แล้วแต่มุมมอง ประเด็นหลักแล้ว คือ โครงการดังกล่าวต้องการนำเข้าสู่วิสัยทัศน์ของกทม. เพื่อให้มีความน่าอยู่อย่างยั่งยืนถาวร ซึ่งประติมากรรมที่ติดตั้งในสวนสาธารณะปัจจุบัน นอกจากจะสร้างมาเพื่อให้ผู้คนเดินทางเข้าไปร่วมชม หรืออาจจะถ่ายรูปเป็นที่ระลึกแล้ว ก็ยังสมารถจับต้องได้อีก สิ่งที่ประชาชนมีส่วนร่วมก็คือ การได้สัมผัสเหมือนของเล่น ดังนั้นจุดติดตั้ง ต้องเป็นจุดที่ประชาชนเข้าไปผ่อนคลายอย่างแท้จริง ส่วนที่ว่า จะได้รับการยอมรับจากประชาชนมากน้อยแค่ไหนนั้น พี่ขุนกล่าวว่า ภายหลังเมื่อมีการติดตั้งประติมากรรมครบทั้ง 10 จุด ตามที่วางเอาไว้แล้วนั้น กทม.โดยสำนักผังเมืองจะส่งทีมงานเข้าไปดำเนินการสำรวจความพึงพอใจหรือทัศนคติ รสนิยมของประชาชน ที่มีต่อประติมากรรมเหล่านี้ ซึ่งหากได้รับการตอบรับจะมีการต่อยอดขยายการติดตั้งเป็นโครงการในระยะต่อไป เพราะกทม. มีพื้นที่เยอะ ซึ่งจากการที่คุยกับอาจารย์ม.ศิลปากรผู้รับผิดชอบโครงการ ได้ระบุไว้ในเบื้องต้นแล้วว่า ต้องมีการติดตั้งบนฐาน ที่ให้มีการเคลื่อนย้ายชิ้นงานไปยังสถานที่อื่นๆ เพื่อให้เกิดความหลากหลาย ไม่ซ้ำย่ำอยู่กับแบบเดิมๆในแต่ละที่ โดยอาจเปลี่ยนไปในช่วง 2 ปี เพื่อให้ประชาชนไม่เบื่อ แต่ติดที่ว่า ตรงอุปสรรคที่ผลชิ้นงานบางอันนั้นใหญ่ หนัก และไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ก็ต้องมีการปรับปรุงและแก้ไขต่อไป มาดูกันว่า ประติมากรรม ทั้ง 10 ชิ้น ทั้งที่มีการติดตั้งไปแล้ว และยังไม่ปรากฎโฉมให้เราๆ ได้เห็นกันมีสิ่งใดบ้าง ติดตั้งที่ไหน และแต่ละชิ้นงาน สื่อความหมายเป็นอย่างไร ลองติดตามดูกันได้เลย.... | ชิ้นที่ 1 ผลงานชื่อ "FRAME" ศิลปิน Mr. Bettino Francini ชาวอิตาเลียน นายกสมาคมประติมากรรมกับสิ่งแวดล้อมโลก ติดตั้งไปแล้วที่ บริเวณสวนวชิรเบญทัศ (สวนรถไฟ) เขตจตุจักร แนวคิด : การถ่ายภาพด้วยกล้องจะสามารถเก็บภาพในกรอบที่จำกัด และการถ่ายภาพต่อเนื่องจะสามารถเก็บภาพที่แสดงถึงความเคลื่อนไหวได้เป็นอย่างดี FRAME (เฟรม) ที่วางซ้อนในแนวตั้งและหักเหในทิศทางที่ต่เนื่องกันให้ความรู้สึกถึงการเคลื่อนไหว |
| ชิ้นที่ 2 ผลงานชื่อ "ต้นไม้แห่งชีวิต" ศิลปิน ผศ.อนิก สมบูรณ์ ศิลปินอาวุโส ติดตั้งไปแล้ว ที่บริเวณสวนลุมพินี เขตปทุมวัน แนวคิด : ต้นไม้แห่งชีวิต หมายถึง ความรักที่มีให้กันและกันระหว่างสามี ภรรยา เป็นความรักที่ละเอียดอ่อน ความเข้าใจ ความเอาใจใส่ การทะนุถนอม จำเป็นต้องอยู่ในใจทั้งสองฝ่ายอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับการปลูกต้นไม้ ที่ต้องคอยดูแล รดน้ำ พรวนดิน ให้ปุ๋ย เพื่อให้ต้นไม้มีความแข็งแรงและเจริญเติบโต | ชิ้นที่ 3 ผลงาน "3 World" ศิลปิน รศ.เข็มรัตน์ กองสุข ศิลปินชั้นเยี่ยมติดตั้งไปแล้วที่ บริเวณ สวนธนบุรีรมย์ เขตทุ่งครุ แนวคิด : ลักษณะของรูปทรงกลมที่เป็นลูกบอล เป็นรูปทรงสากล ให้ความหมายกว้าง แต่ขณะเดียวกันก็ให้ความหมายเจาะจงด้วย ลักษณะเส้นรอบนอกที่วิ่งเป็นเส้นโค้งมาบรรจบกัน มีความหมายและให้ความรู้สึกไม่สิ้นสุด การกำหนดให้มีพื้นที่ว่างภายในรูปทรงโดยการเจาะด้วยเส้นตรงในแนวตั้ง แนวเฉียง และแนวนอน แล้วกำหนดขอบเขตของที่ว่างภายในให้ขนานกับเส้นรูปทรงภายนอกส่งผลให้รู้สึกเบาและเคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง การเคลื่อนไหวของโลกจะหมุนด้วยภายในและสภาวะภายนอกที่ผลักดันอยู่ตลอดเวลา
| | ชิ้นที่ 4 ผลงาน "สังคมแห่งความงอกงามของคุณธรรม" ศิลปิน อ.นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ศิลปินแห่งชาติ ติดตั้งไปแล้วที่ บริเวณสวนวชิรเบญทัศ (สวนรถไฟ) เขตจตุจักร แนวคิด : ขอให้มวลมนุษย์ร่วมกันปลูกพืชพันธุ์แห่งคุณธรรมให้เจริญงอกงามขึ้น โดยเริ่มจากตนเองแล้วแพร่ขยายให้กว้างขวางออกไป เป็นสิ่งแวดล้อมแห่งความดีและความงามเพื่อความสะอาด ความสวย ความสว่าง และความพอเพียงของการดำรงชีวิตในสังคม | | ชิ้นที่ 5 ผลงาน "สุริยัน" ศิลปิน รศ.วิชัย สิทธิรัตน์ ศิลปินระดับนานาชาติ อยู่ในระหว่างดำเนินการติดตั้งบริเวณสวนสาธารณะเชิงสะพานพระปกเกล้าฝั่งธนบุรี เขตคลองสาน | | แนวคิด : สุริยะ เป็นพลังที่ก่อให้เกิดสิ่งทมีชีวิตมากมายทั้งเล็กใหญ่ หลายพันธุ์และสูญสลายกลายสถานะตามสภาวะองค์ประกอบที่จะก่อให้เกิดสิ่งใหม่ด้วยพลังที่มีในระบบสุริยะ สุริยะ เป็นระบอบบอกเวลากลางวัน กลางคืน แก่สิ่งมีชีวิในการทำกิจกรรม มนุษย์รู้จักการเตือน การบอกกำหนดเวลาโดยใช้เสียงระฆังเตือนและบอกกล่าวให้เป็นที่เข้าใจร่วมกัน "สุริยัน"เป็นสัญลักษณ์ของชีวิตและเวลา
| ชิ้นที่ 6 ผลงาน "กระจก" ศิลปิน ผศ.เขียน ยิ้มศิริ ศิลปินชั้นเยี่ยมอาวุโส อยู่ในระหว่างดำเนินการติดตั้งบริเวณสวนสาธารณะเชิงสะพานสาทร เขตคลองสาน | | แนวคิด : กระจกเงาได้นำมาใช้เพื่อกิจกรรมต่างไที่ต้องการเห็นภาพสะท้อนที่สายตาไม่สามารถมองโดยตรงได้ ภาพสตรีในท่าทางส่องกระจกเป็นการแต่งหน้า ทำผมฯ เพื่อความสวยงามบนใบหน้า เป็นกิจกรรมที่เห็นเป็นประจำของผู้หญิงทุกคน ลักษณะรูปทรงที่เรียบง่าย ไม่มีลายละเอียด การตัดทอนเพื่อให้รู้สึกถึงควาามอ่อนนุ่ม เคลื่อนไหว และอ่อนหวานเหมือนกับสตรีผู้มีแต่ความงดงาม
| | ชิ้นที่ 7 ผลงาน "Protector" ศิลปิน ผศ.เขียน ยิ้มศิริ ศิลปินชั้นเยี่ยมอาวุโส อยู่ในระหว่างดำเนินการติดตั้งบริเวณสวนสาธารณะเชิงสะพานสาทร ถนนเจริญนคร เขตคลองสาน แนวคิด : ความรักของแม่เปี่ยมด้วยความเมตตา กรุณา ปรารถนา ที่จะให้ทุกอย่างเพื่อลูกมีสุข แม่เพียรพยายามทั้งแรงกาย แรงใจ แม้จะแสนยากลำบากเพียงไรก็ไม่หวั่น คอยทะนุถนอม ปกป้องคุ้มครอง Protector เป็นรูปทรงผู้หญิงที่ตัดทอน แต่เน้นความอ่อนหวานของเส้นที่เป็นเส้นโค้ง เพื่อแสดงความรักที่มีต่อลูกได้อย่างลึกซึ้ง การโอบอุ้มในวงแขนอย่างนุ่มนวล คอยประคองไม่ให้เจ็บปวด | | ชิ้นที่ 8 ผลงาน "The Moon" ศิลปิน อ.ศราวุธ ดวงจำปา ศิลปินระดับนานาชาติ อยู่ในระหว่างดำเนินการติดตั้งบริเวณสวนสาธาณะหน้าวัดเสมียนนารี เขตจตุจักร (ป้ายรถประจำทาง) แนวคิด : ดวงจันทร์ที่อยู่บนท้องฟ้า ทั้งกลางวันและกลางคืนเราสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนในคืนดวงจันทร์เต็มดวง โดยจะมองเห็นได้ถึงพื้นผิวเหมือนรูปกระต่ายสีขาวที่มีชีวิต เรามองเห็นดวงจันทร์ตั้งแต่เเป็นรูปเสี้ยว ครึ่ง และเต็มดวง แต่ The Moon เป็นประติมากรรมรูปครึ่งวงกลมเมื่อมองด้านข้าง และมีการวางทับกันเหมือนกับวาด วงเป็นเสี้ยวและกำลังเคลื่อนขึ้นไปเป็นภาพที่ชวนให้เกิดจินตนาการมากมาย
| ชิ้นที่ 9 ผลงาน "ตะกร้อ" ศิลปิน ผศ.เขียน ยิ้มศิริ ศิลปินชั้นเยี่ยมอาวุโส อยู่ในระหว่างดำเนินการติดตั้งที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง แนวคิด : ตะกร้อ เป็นกีฬาพื้นบ้านของไทย ผู้เล่นต้องใช้ความสามารถในการเล่น และจำเป็นต้องมีการฝึกมาอย่างดี ด้วยลักษณะท่าทางในการเล่นในแต่ละท่า แสดงให้เห็นถึงความสวยงามและมั่นคง ในการรับและการถ่ายเทน้ำหนัก | | ชิ้นที่ 10 ผลงาน "ช้างต้นแบบ" ศิลปิน ศ.ศิลป์ พีระศรี ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร อยู่ในระหว่างดำเนินการติดตั้งบริเวณ สวนรมณีนาถ เขตพระนคร แนวคิด : ช้างเศวตฉัตร ตามประวัติศาสตร์เป็นช้างคู่บ้านคู่เมือง เป็นผลงานชิ้นสำคัญของ ศ.ศิลป์ พีระศรี ที่ได้ปั้นสเก็ตเป็นต้นแบบเพื่อนำไปขยายประกอบการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ดอนเจดีย์และเพื่อการศึกษาโครงสร้าง สัดส่วน และกายวิภาคของช้างแก่ลูกศิษย์ในการเรียน ช้างต้นแบบเชือกดังล่าว มีความสวยงาม ด้วยโครงสร้างที่เป็นช้างหนุ่มแสดงถึงลักษณะความแข็งแรง และความสง่างาม
| | ร่วมสัมผัสความงามผ่านประติมากรรมนานาไอเดีย จากสุดยอดการออกแบบของปรมาจารย์ชั้นบรมครูได้ ณ สวนสาธารณะทั่วกรุงเทพมหานคร งานนี้จัดแสดงให้ชมฟรีตลอดกาล ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ถ่ายรูปได้ซ้ำยังจับต้องพื้นผิวได้อีก แถมเพิ่มความสวยงาม แฝงด้วยคุณค่าของงานศิลปะที่ต้องใช้ใจสัมผัสเท่านั้น ถึงจะตีความหมายได้ตามที่ศิลปินได้รังสรรค์เอาไว้ ฝากไว้นิดสำหรับคนที่คิดจ้องทำลายความปรารถนาดีที่ทางกทม. จัดไว้ ขอลองใช้จิตสำนึกไตร่ตรองดูให้ดี เพราะสมบบัติทุกชิ้น ไม่ว่าจะเป็น สวนสาธารณะ วัตถุ ประติมากรรม ต้นไม้ หรือศาสนสถาน ล้วนมาจากเงินภาษีของพวกคุณทั้งนั้น ถ้าทุกคนช่วยรักษาสมบัติของสังคมที่ล้วนเป็นความรับผิดชอบร่วมกันไว้อย่างดี จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ที่มีแต่ความเอื้ออาทร ลดความเห็นแก่ตัวกันที่สิงสถิตย์อยู่รอบตัวไปได้เยอะเลยทีเดียว |
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1250147331&grpid=no&catid=02 --
ขอเชิญอ่าน blog.Thank you so much.
http://www.parent-youth.nethttp://www.familynetwork.or.thhttp://sph.thaissf.org/ http://www.presscouncil.or.thhttp://ilaw.or.thhttp://thainetizen.orghttp://www.ictforall.org http://icann-ncuc.ning.comhttp://dbd-52.hi5.comhttp://www.webmaster.or.thhttp://www.thailandshowtime.com/2009
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น