ใครๆก็แก้กฎหมายได้(คุณก็ด้วย)
Bookmark and Share

วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

เลาะเลียบ กทม. สำรวจโครงการระบายน้ำสุวรรณภูมิ เฝ้าระวัง "น้ำท่วมกรุง"

วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11462 มติชนรายวัน


เลาะเลียบ กทม. สำรวจโครงการระบายน้ำสุวรรณภูมิ เฝ้าระวัง "น้ำท่วมกรุง"


โดย พนิดา สงวนเสรีวานิช




คลองระบายน้ำสุวรรณภูมิ
ทุกปีกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก อย่างที่ลุ่มบางภาษี อำเภอบางเลน หรือบริเวณตำบลกระทุ่มล้ม อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ต้องกลายเป็นเหมือนแอ่งรองรับน้ำเหนือไปโดยปริยาย

ยิ่งที่ห้วงเวลานี้ที่นับเป็นห้วงเวลาสำคัญของการเตรียมความพร้อม ก่อนที่จะต้องรับมือกับ "3 น้ำ" ที่กำลังจะประดังประเดกันมาพร้อมๆ กันคือ "น้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุน" ต้นเหตุของภาวะน้ำท่วม ซึ่งแต่ละปีสร้างความเสียหายให้กับประเทศคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท

นอกจากเรื่องของการบริหารการจัดการระบบระบายน้ำแล้ว ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเพราะระบบเฝ้าระวังภัยทางน้ำที่ยังเป็นแบบเดิมๆ ใช้กำลังคนในการเฝ้าระวัง การเตือนภัยจึงเป็นไปอย่างเชื่องช้าไม่ทันการณ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสำคัญกับเรื่องของน้ำเป็นอย่างมาก ได้พระราชทานคำแนะนำเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมมาโดยตลอด

อาทิ การขุดคลองลัดโพธิ์ หนึ่งในโครงการพระราชดำรัสเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ช่วยให้แม่น้ำเจ้าพระยาช่วงที่ไหลผ่านพื้นที่ตำบลบางกระเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ จากระยะทางเดิม 18 กิโลเมตร เหลือเพียง 600 เมตร จึงระบายน้ำได้เร็วขึ้น

ขณะเดียวกันมีพระราชดำริให้ผันน้ำหลากเหนือเขื่อนเจ้าพระยาและท้ายเขื่อนป่าสักออกทางฝั่งซ้ายผ่านระบบคลองเดิมลงคลองระพีพัฒน์ ผันออกทางคลองระบายน้ำที่ 13, 14 ระบายออกสู่ทะเลทางแม่น้ำบางปะกง และคลองพระองค์ไชยานุชิต

เพื่อเพิ่มความอุ่นใจให้กับประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ตอนล่างของลุ่มเจ้าพระยาที่หน้าฝนปีนี้ดูเหมือนจะหนักกว่าทุกปี กรมชลประทาน โดยสำนักชลประทานที่ 11 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ทางตอนล่างของลุ่มน้ำเจ้าพระยา จัดพาสื่อมวลชนไปเยี่ยมชมการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลาก โดยการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ชัยนรินทร์ พันธ์ภิญญาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 11 เล่าถึงระบบการจัดการระบายน้ำในบริเวณลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างว่า เขื่อนสำคัญๆ ที่ทำหน้าที่รองรับน้ำจากทางเหนือ อย่างเขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนภูมิพล ขณะนี้ปริมาณที่รองรับน้ำยังไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยาที่มีศักยภาพระบายน้ำได้ 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ณ วันนี้ปริมาณการระบายน้ำอยู่ที่ 246 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเท่านั้น


"ที่น่าเป็นห่วงคือ ในส่วนของปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ ซึ่งตรงนี้เรามีความพร้อมทั้งสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ รวมทั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราว ซึ่งปีนี้เรามีสถานีสูบน้ำเพิ่มขึ้น 3 แห่ง ได้แก่ สถานีสูบน้ำประเวศบุรีรมย์ สถานีสูบน้ำหนองจอก และสถานีสูบน้ำคลองหกวา เพิ่งจะแล้วเสร็จ แม้ว่าจะยังไม่มีการทดลองใช้อย่างเป็นทางการ เพราะยังไม่เจอกับน้ำท่วมหนักๆ อย่างปี พ.ศ.2538 แต่เรามั่นใจว่าสามารถรับมือได้ น้ำไม่ท่วมแน่นอน"

นอกจากการก่อสร้างสถานีประตูระบายน้ำแห่งใหม่เพิ่มขึ้นถึง 3 สถานี สำนักชลประทานที่ 11 ยังพาไปชมโครงการล่าสุด "โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ"

ทั้งนี้ เนื่องจากพื้นที่ละแวกบางพลี สมุทรปราการ คือหนึ่งในพื้นที่ประสบภาวะน้ำท่วมเป็นนิจในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ประเทศไทยได้สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ สาเหตุเพราะพื้นที่เดิมของสนามบินสุวรรณภูมิเป็นที่ลุ่มมีลักษณะเป็นแอ่งขนาดใหญ่ และเป็นพื้นที่รับน้ำเพื่อไม่ให้น้ำที่หลากจากทางเหนือทะลักเข้าท่วมกรุงเทพมหานคร

เมื่อพื้นที่ "หนอง" ถูกถมสูงเพื่อทำเป็นสนามบินนานาชาติ ทำให้สูญเสียพื้นที่ที่เคยเป็นเสมือนแอ่งพักน้ำขนาดใหญ่ รองรับน้ำได้กว่า 20,000 ไร่ น้ำที่ไม่สามารถระบายออกไปในคลองระบายน้ำที่ทำไว้บริเวณรอบๆ สนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่บริเวณโดยรอบ และต่อเนื่องลึกเข้าสู่พื้นที่ชั้นกลางและชั้นในของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

จึงเป็นที่มาของ "โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ"

ทริปนี้หลังจากแวะเยี่ยมชมสถานีสูบน้ำคลองหกวาสายล่าง และสถานีสูบน้ำหนองจอก เป้าหมายต่อไปบนถนนสุขุมวิทสายเก่า ซึ่งมุ่งตรงไปทางเดียวกับบางปู อดีตสถานพักตากอากาศยอดนิยมเมื่อ 20-30 ปีก่อน เส้นทางน้ำที่ขนานไปกับถนนสายนี้ก็คือ "คลองชายทะเล"

(บน-กลาง) สถานีสูบน้ำคลองหกวา และสถานีสูบน้ำประเวศบุรีรมย์ พร้อมรับมือฤดูฝน (ล่าง) สะพานน้ำขนาดยักษ์โครงการสุวรรณภูมิ ทอดข้ามคลองชายทะเลและถนนสุขุมวิทไปลงทะเล


"คลองชายทะเล" นอกจากจะเป็นหนึ่งในแหล่งพักน้ำก่อนจะที่ผลักออกสู่อ่าวไทย ที่นี่ยังเป็นจุดเฝ้าระวังที่เจ้าหน้าที่กรมชลประทานใช้สังเกตระดับน้ำว่าถึงระดับที่จะต้องเดินเครื่องสูบน้ำหรือยัง

เบื้องหน้าไม่ไกล เป็นที่ตั้งของอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดใหญ่ที่ทอดตัวข้ามถนนสุขุมวิท

ที่นี่คือ "สะพานน้ำ" ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สูงจากถนนสุขุมวิทประมาณ 6 เมตร ทำหน้าที่รับน้ำจากสถานีสูบน้ำสุวรรณภูมิ ข้ามคลองชายทะเลและถนนสุขุมวิทไปสู่ทะเลโดยตรง

เพื่อรองรับกับศักยภาพของสถานีสูบน้ำสุวรรณภูมิ ซึ่งเมื่อเดินเครื่องเต็มที่แล้วสามารถระบายน้ำได้มากถึง 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ส่วนบริเวณที่ตั้งของสถานีสูบน้ำสุวรรณภูมิ ซึ่งอยู่ในช่วงของการเร่งก่อสร้างนั้นจัดทำเป็นส่วนของอาคารสถานีหลัก ขนาด 2 ชั้น มีห้องประชุมขนาดกะทัดรัด และโรงอาหารสำหรับให้บริการเจ้าหน้าที่และพนักงานทั้งหมด

อาคารสถานีสูบน้ำนั้นสร้างด้วยคอนกรีต ชั้นล่างเป็นที่ตั้งของเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ ฐานเป็นคอนกรีตจึงทนต่อการกัดกร่อนของน้ำทะเล กำลังการสูบน้ำทั้ง 4 เครื่อง ซึ่งควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ มีศักยภาพการสูบน้ำได้ถึงเครื่องละ 25 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เทียบกับเครื่องสูบน้ำที่ใช้กันอยู่ตามสถานีสูบน้ำอื่นๆ มีกำลังเพียงแค่ 3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เท่านั้น

ชั้นบนของอาคารเป็นสถานีเฝ้าสังเกต อันเป็นที่ตั้งของระบบโทรมาตร (Telemetering System) ซึ่งเป็นระบบตรวจวัดและส่งข้อมูลทางไกลแบบอัตโนมัติ เป็นเทคโนโลยีที่กรมชลประทานนำมาช่วยแก้ปัญหาการจัดการระบายน้ำในระยะยาว

โดยระบบโทรมาตรนี้ จะรายงานข้อมูลน้ำฝนและอัตราการไหลของน้ำ ในพื้นที่ทั้งหมด 49 สถานีโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ แบ่งเป็นการทำงานด้วยระบบจีพีเอส 14 สถานี ระบบวิทยุติดตาม 12 สถานี และระบบไฟเบอร์ออปติค 23 สถานี แล้วส่งข้อมูลมายังสถานีแม่ข่ายหรือห้องควบคุมที่นี่ เพื่อวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของระดับน้ำทะเล เพื่อคาดการณ์สถานการณ์น้ำที่อาจเกิดขึ้น และสามารถวางแผนการระบายน้ำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

วีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประทาน อธิบายเพิ่มเติมในส่วนของระบบโทรมาตรว่า เป็นระบบเฝ้าติดตามน้ำฝนในพื้นที่ เมื่อฝนตกจะปรากฏตัวเลขของระดับน้ำที่จอรับภาพ ฉะนั้นที่สถานีหลักจะทราบสถานการณ์ของน้ำก่อน จะสามารถแจ้งต่อไปสถานีอื่นเพื่อดำเนินในขั้นต่อไป

"เมื่อก่อนเราใช้การคาดการณ์ โดยใช้คนเฝ้าระวัง แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด เป็นแบบเรียลไทม์ทำให้สามารถรู้ระดับน้ำในทันที และสามารถคำนวณได้ว่าปริมาณน้ำจะเข้ามาเท่าไหร่ ทำให้การบริหารจัดการน้ำทำได้รวดเร็ว"

รองอธิบดีกรมชลประทาน ย้ำอีกว่า "เราพร้อมแล้วในเรื่องของการรับมือกับน้ำหลาก เราได้น้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นแนวทางในการก่อสร้าง รวมทั้งเร่งระบายน้ำออกทางแม่น้ำนครนายก แม่น้ำบางประกง รวมทั้งทางคลองชายทะเล และได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ยังไม่ลุล่วงเท่านั้น

"กลางปีนี้เราได้เตรียมการติดตั้งระบบ "โทรมาตร" ให้ลุล่วงทั้ง 49 สถานี เพื่อควบคุมทั่วพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตะวันออกตอนล่างทั้งหมด เฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ โดยเฉพาะปริมาณฝนตกในพื้นที่ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ เมื่อเราสามารถรู้เหตุการณ์ได้ทันเวลา เราก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที"

แม้ว่าโครงการสถานีสูบน้ำสุวรรณภูมิจะมีกำหนดแล้วเสร็จราวเมษายนปีหน้า แต่กรมชลประทานต่างยืนยันความมั่นใจว่า หน้าฝนปีนี้กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะไม่ประสบกับภาวะน้ำท่วมขังเป็นเวลานานๆ อย่างที่กังวลแน่นอน

อย่างน้อยในช่วงฤดูน้ำหลากปีนี้ก็สามารถเปิดใช้งานประตูระบายน้ำที่เชื่อมต่อกับคลองธรรมชาติบริเวณเขตพื้นที่ตำบาลบางปลา ตำบาลบางปู โดยนับน้ำจากคลองลาดหวายคลอง 9 -คลอง 1 ตามลำดับ แล้วสูบออกทะเลโดยตรง ซึ่งสามารถช่วยระบายน้ำได้ประมาณ 25%

เว้นเสียแต่จะเจอระดับพายุไต้ฝุ่นถล่ม คงต้องมาว่ากันอีกที!

หน้า 20

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น