ใครๆก็แก้กฎหมายได้(คุณก็ด้วย)
Bookmark and Share

วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ศิลปะในป่าช้า

วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11554 มติชนรายวัน


ศิลปะในป่าช้า


โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์




ผู้เขียนได้รับจดหมายข่าวจากป่าช้าไม้เขียว (Green-Wood Cemetery) ในบรู๊กลีน, นิวยอร์ก เมื่อ 2-3 วันนี้

เมื่อ เปิดออกดูแล้วก็ขำนั่งหัวเราะอยู่คนเดียวแล้วก็ระลึกถึงเมื่อครั้งที่ผู้ เขียนไปงานประชุมประจำปีของสมาคมรัฐศาสตร์อเมริกันที่กรุงนิวยอร์กเมื่อ พ.ศ.2536

ในครั้งนั้นผู้เขียนได้แวะเข้าไปในป่าช้าไม้เขียวนี้และ ชื่นชมบรรยากาศของป่าช้านี้มากเพราะสวย สะอาด มีไม้ดอกและไม้ใบนานาชนิดและการจัดภูมิทัศน์ก็วิเศษ แถมยังมีรูปปั้นเหนือหลุมฝังศพนานาชนิดที่งดงามและมีประวัติศาสตร์แห่งความ ทรงจำอยู่ทั่วไป

ผู้เขียนมีความสุขมากในการมาที่ป่าช้าแห่งนี้จึงได้เขียนความชื่นชมอย่างจริงใจลงในสมุดเยี่ยม

คาดไม่ถึงเลยว่าอีก 16 ปีต่อมาจะได้รับจดหมายข่าวจากป่าช้าแห่งความสุขของผู้เขียนในครั้งนั้น

เมื่อ ผู้เขียนยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้นต้องอ่านกลอนดอกสร้อย "รำพึงในป่าช้า" ของพระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนชีวะ) ซึ่งตอนนั้นก็ไม่ค่อยชอบเท่าไร เนื่องจากถูกบังคับให้อ่านและเรื่องป่าช้ากับความตายนั้นไม่ใช่เรื่องสนุก อะไรเลย

จนกระทั่งเมื่อตอนที่ต้องเรียนวรรณคดีอังกฤษในมหาวิทยาลัยก็ ต้องเจอกวีนิพนธ์ของ Thomas Gray "An Elegy Written in a Country Churchyard" เข้า ซึ่งอาจารย์ฝรั่งผู้สอนท่านชื่นชมเหลือเกินถึงกับบอกผู้เขียนว่างานชิ้นนี้ สะท้อนถึงความครุ่นคิดในความเงียบสงัดและสันโดษที่งดงามที่สุด



และท่านมักจะพึมพำส่วนหนึ่งของกวีนิพนธ์ตอนหนึ่งเป็นประจำคือ

The boast of Heraldry, the Pomp of Pow"r, And all that Beauty, all that Wealth e"er gave, Awaits alike th"inevitable hour. The Paths of glory lead but to the Grave.

ผู้เขียนเลยต้องขวนขวายทำความเข้าใจกับความ วิเศษซาบซึ้งของกวีนิพนธ์บทนี้ให้ได้ แต่ภาษาอังกฤษที่สุดโบราณนั้นยากที่จะเข้าใจได้ หากไม่ได้กลอนดอกสร้อยรำพึงในป่าช้าของท่านเจ้าคุณอุปกิตศิลปสารที่ส่งไปให้ จากเมืองไทยแล้วละก็ผู้เขียนคงแย่แน่ๆ ทีเดียว

หลังจากนั้นผู้เขียน ก็ต้องเรียนวิชาศิลปศึกษา (Art Appreciation) ซึ่งเป็นวิชาบังคับทำให้ไปเที่ยวตามป่าช้าต่างๆ ในรัฐอิลลินอยส์ดูรูปปั้นบนหลุมฝังศพซึ่งอาจารย์บอกว่าเป็นศิลปะที่น่าสนใจ มาก ซึ่งจากการไปเดินในป่าช้าคนเดียวที่เมืองฝรั่งนั้นไม่น่ากลัวเท่าไรเลยเพราะ ป่าช้าของเขามักสะอาด สงบและสวยงามด้วยพรรณไม้ต่างๆ

อ้อ! ว่าก็ว่าเถอะมีหนุ่มสาวพิลึกบางคู่ชอบจะออกเดตกันไปที่ป่าช้าตอนกลางคืนมืดๆ นัยว่าไปหาอ่านชื่อคนที่จารึกอยู่บนหลุมฝังศพซึ่งทำไมไม่ไปกันตอนกลางวันก็ ไม่ทราบ

คงจะเป็นเพราะประสบการณ์ของผู้เขียนเป็นอย่างนี้เองทำให้ผู้ เขียนได้เยี่ยมชมป่าช้าของฝรั่งหลายแห่งและชอบบรรยากาศในป่าช้าเหล่านี้ เพื่อนันทนาการและได้เกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์และทางสุนทรียศาสตร์เป็น ของแถม

ป่าช้าไม้เขียว (Green-Wood Cemetery) นี้เริ่มกิจการตั้งแต่ พ.ศ.2381 โน่น (ตั้ง 171 ปีมาแล้ว) จัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงไม่แพ้น้ำตกไนแองการาเลยทีเดียว เนื่องจากมีผู้มาเยือนป่าช้าไม้เขียวนี้ปีละประมาณ 500,000 คน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของครอบครัว มีบริการรถม้า รถรางและผู้นำชมป่าช้าที่มีรูปปั้นเหนือหลุมฝังศพที่งดงามจำนวนมาก และชื่นชมกับภูมิทัศน์ที่งดงามที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลจากฝีมือการออกแบบ แลนด์สเคปที่ดีที่สุดของนักภูมิสถาปัตย์รุ่นแรกของสหรัฐอเมริกา

ปัจจุบัน นี้ป่าช้าไม้เขียวนี้มีเนื้อที่ 478 เอเคอร์ ประกอบด้วยเนินเขา หุบเขาและสระน้ำที่เกิดจากธารน้ำแข็ง และที่สำคัญก็คือยังพอมีที่ว่างอยู่บ้างจึงอยากจะชักชวนให้ผู้ที่ชื่นชมใน ธรรมชาติที่สวยงามพร้อมทั้งงานศิลปะที่งดงามรวมทั้งเพื่อนบ้าน (เพื่อนหลุม?) ที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์มาจับจองหลุมที่จะนอนหลับนิรันดร์

ซึ่ง ทางป่าช้ามีบริการทั้งฝังทั้งเผาให้เลือก นอกจากนี้ถ้าอยากอยู่คอนโดมิเนียมแบบไม่ต้องอยู่ใต้พื้นดินก็มีคอนโดมิเนียม ให้อยู่แต่สงวนสิทธิเอาไว้ให้กับคนที่ต้องการเผาศพเท่านั้นซึ่งเหมาะสำหรับ คนไทยมากทีเดียว

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้เพราะว่าผู้เขียนได้รับการชัก ชวนให้ไปอยู่ที่ป่าช้าไม้เขียวโน่นเมื่อตอนตายแล้ว แบบว่าเชิญให้ไปเลือกจองที่ที่จะนอนหลับนิรันดร์เอาไว้ก่อน เนื่องจากอีกไม่นานที่ว่างในป่าช้าไม้เขียวอันสวยงามนี้อาจจะหมดไปเพราะยัง มีเหลืออยู่อีกไม่มาก

น่าเสียดาย ซึ่งผู้เขียนคิดว่าคงจะตอบขอบคุณไปในความปรารถนาดีครั้งนี้แต่คงไม่ไปจองที่อยู่หรอก

เพราะว่ากลัวหนาวน่ะ!


หน้า 6

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น