การที่บรรดาชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกมัวแต่ผัดผ่อนและล้มเหลวครั้ง แล้วครั้งเล่าที่จะตกลงลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อแก้ภาวะโลกร้อน โดยยอมแบกรับภาระต้นทุนผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นบ้าง อันมีกรณีการประชุมสุดยอดที่โคเปนเฮเกนปลายปีที่แล้วเป็นตัวอย่างล่าสุดนั้น นอกจากชวนหดหู่หมดหวังแล้ว ก็ยังบ่งชี้ความสัมพันธ์อันมัดแน่นแกะไม่ออกระหว่างปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก กับ [ระบบการผลิตที่อาศัยเชื้อเพลิงฟอสซิลหรือซากดึกดำบรรพ์ + เศรษฐกิจอุตสาหกรรม + สังคมบริโภคนิยม] ด้วย
ประเด็นนี้ก่อความแตกต่างขัดแย้งทางความคิดในขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระหว่าง : -
1) ฝ่ายที่เล็งการณ์ร้ายว่าอารยธรรมมนุษย์ดังที่เป็นอยู่นี้เกินแก้ไขเยียวยา มิสู้ปล่อยให้มันล่มสลายไปเลยดีกว่า แล้วค่อยสร้างขึ้นมาใหม่หมด กับ
2) ฝ่ายที่เห็นว่าหากนิ่งดูดายปล่อยไปเช่นนั้น จะเกิดต้นทุนความสูญเสียแก่มนุษยชาติสูงเกินรับไหว ดังนั้นถึงไงก็ต้องพยายามมองโลกในแง่ดี ยืนหยัดต่อสู้ผลักดันให้รัฐบาลนานาชาติและชาวโลกเปลี่ยนแปลงแก้ไขวิถีการ ผลิตและบริโภคทางเศรษฐกิจเพื่อหลีกเลี่ยงหายนะที่จะมาถึง
ไม่นานมานี้ ปัญญาชนนักเคลื่อนไหวชั้นแนวหน้าของขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในอังกฤษ 2 คน คือ พอล คิงส์นอร์ธ กับ จอร์จ มองบิโอต์ ผู้เป็นตัวแทนแนวคิด 2 ฝ่ายดังกล่าว ได้เปิดฉากวิวาทะกันเรื่องนี้ทางจดหมายผ่านเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์เดอะกา ร์เดียน ต่างนำเสนอแง่คิดมุมมองข้อถกเถียง การประเมินสถานการณ์ และวิเคราะห์วิจารณ์ทางออกที่เป็นไปได้อย่างน่าสนใจชวนพินิจพิจารณา ในฐานะที่นับวันมันจะกลายเป็นประเด็นระเบียบวาระทางนโยบายรูปธรรมสำคัญเร่ง ด่วนใกล้ตัวทั้งระดับสากลและในประเทศ ดังเช่นกรณีมาบตาพุด/มาบตาพิษ เป็นต้น
ผมจึงใคร่ขอนำมาถ่ายทอดเสนอต่อตามลำดับดังนี้.....
จดหมายฉบับที่ 1
จอร์จเพื่อนรัก,
บนโต๊ะข้างหน้าผมเป็นกราฟชุดหนึ่ง แกนราบของกราฟแต่ละรูปแสดงปี ค.ศ.1750 ถึง 2000 กราฟต่างๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นระดับประชากร, ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมในชั้นบรรยากาศ, การจับสัตว์น้ำจากการประมง, การตัดไม้ทำลายป่าเขตร้อน, การบริโภคกระดาษ, จำนวนรถยนต์, การใช้น้ำ, อัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต และยอดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของเศรษฐกิจมนุษย์ทั้งหมด
สิ่งที่สะกดความคิดจิตใจผมเกี่ยวกับกราฟพวกนี้ (ซึ่งปกติแล้วกราฟจะไม่ค่อยสะกดความคิดจิตใจผมเท่าไหร่) ก็คือถึงแม้พวกมันจะแสดงเรื่องราวแตกต่างกันสารพัด แต่กลับมีรูปร่างแทบเป็นพิมพ์เดียวกัน นั่นคือเส้นกราฟจะเริ่มจากซีกซ้ายของหน้าแล้วค่อยๆ ไต่สูงขึ้นขณะเคลื่อนไปทางขวา และพอถึงระยะราวหนึ่งนิ้วก่อนสุดหน้า-ซึ่งตกราวปี ค.ศ.1950 ตามแกนราบของกราฟ-เส้นก็จะหักเหพุ่งขึ้นบน เหมือนเวลานักบินหันหัวเครื่องบินโผขึ้นสูงเพื่อหลบหน้าผาที่จู่ๆ ก็โผล่ออกมาจากก้อนเมฆที่เขาคิดว่าว่างเปล่า
รากเหง้าของแนวโน้มทั้งปวงในกราฟเหล่านี้เป็นสิ่งเดียวกัน นั่นคือเศรษฐกิจ มนุษย์ที่ตะกละตะกลามซึ่งกำลังนำพาโลกไปจ่อริมเหวของความโกลาหลอลหม่านอย่าง ว่องไว เราเองก็รู้เรื่องนี้ พวกเราบางคนกระทั่งพยายามหยุดมันไว้ไม่ให้เกิดขึ้น แต่กระนั้นแนวโน้มดังกล่าวกลับยังเลวร้ายลงต่อไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งไม่มีสัญญาณเลยว่ามันจะเปลี่ยนแปรเป็นอื่นในเวลาอันใกล้ สิ่งที่กราฟเหล่านี้แสดงให้เห็นชัดกว่าอื่นใดก็คือความเป็นจริงอันเลือดเย็น ว่าการล่มสลายอย่างร้ายแรงกำลังจะมาถึง
แต่กระนั้นก็มีพวกเราน้อยคนเหลือเกินที่พร้อมจะจ้องมองดูเรื่องราว ความเป็นจริงดังกล่าวนี้อย่างซื่อๆ ตรงๆ ขณะที่มันกรีดร้องบอกเราว่า อารยธรรมซึ่งเราร่วมเป็นส่วนหนึ่งอยู่ด้วยนั้นกำลังพุ่งเข้าใส่กำแพงกันชน ด้วยความเร็วเต็มพิกัด และสายเกินไปแล้วที่จะหยุดมัน แทนที่จะยอมรับความจริงที่ว่านั้น พวกเราส่วนใหญ่-ซึ่งผมเหมารวมขบวนการสิ่งแวดล้อมกระแสหลักมากมายไว้ด้วย -กลับยังยึดติดอยู่กับวิสัยทัศน์ที่เห็นอนาคตเป็นแค่สภาพปัจจุบันที่ปรับ ปรุงดีขึ้นเท่านั้นเอง เรายังคงเชื่อ "ความก้าวหน้า" แบบที่ลัทธิเสรีนิยมตะวันตกนิยามไว้อย่างมักง่าย เรายังคงเชื่อว่าเราจะสามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างสบายๆ แบบที่เคยอยู่มาได้ต่อไป (แม้จะต้องมีแหล่งผลิตไฟฟ้าด้วยกังหันลมมากขึ้นและมีหลอดไฟคุณภาพดีขึ้นบ้าง ) ขอเพียงแต่เราอ้าแขนโอบรับ "การพัฒนาที่ยั่งยืน" มาเร็วพอ, อีกทั้งยังเชื่อด้วยว่าเราจะสามารถขยาย "การพัฒนาที่ยั่งยืน" ไปยังประชากรอีก 3 พันล้านคนที่จะถือกำเนิดมาสมทบกับเราบนดาวเคราะห์ที่อึดอัดจนหายใจไม่ค่อย ออกอยู่แล้วใบนี้ในเวลาอันสั้น
ผมคิดว่านี่เป็นการปิดหูปิดตาปฏิเสธ ความเป็นจริง เห็นสัญญาณกันโทนโท่แล้วว่าสังคมอุตสาหกรรมไปไม่รอด และไม่ว่าจะช็อปปิ้งกันอย่างมีจริยธรรมสำนึกเพียงใดหรือปักใจประท้วงเด็ด เดี่ยวแค่ไหนก็ไม่มีทางเปลี่ยนมันได้แล้วตอนนี้ หากเอาอารยธรรมที่ตั้งอยู่บนมายาการเรื่องมนุษย์เป็นข้อยกเว้นพิเศษไม่ เหมือนใครกับท่าทีที่หยั่งลึกทางวัฒนธรรมต่อ "ธรรมชาติ" เป็นตัวตั้ง, บวกด้วยความเชื่อเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวัตถุอย่างหลับหูหลับตา, แล้วจุดเชื้อขับเคลื่อนทั้งหมดนั้นด้วยแหล่งพลังงานซึ่งกว่าจะค้นพบว่ามันมี ลักษณะทำลายล้างฉิบหายวายวอดก็หลังจากที่เราได้ใช้มันเพิ่มทวีจำนวนผู้คนและ กิเลสโลภของเราจนสายเกินแก้แล้ว ลองผสมผสานทั้งหมดนั้นเข้าด้วยกันแล้วคุณว่ามันจะได้อะไรหรือ? เรากำลังเริ่มพบคำตอบต่อคำถามนั่นแล้วตอนนี้
เราต้องเลิกงี่เง่าได้แล้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังจวนเจียนจะถึงจุดสายเกินแก้เต็มที ขณะพวกผู้นำของเรายังพากันตีฆ้องร้องป่าวให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นอีก ระบบเศรษฐกิจที่เราพึ่งพาอยู่นั้นไม่อาจกำราบมันให้เชื่องได้โดยที่มันไม่ พังพินาศลงไป ทั้งนี้เพราะมันอาศัยการเติบโตที่ว่านั่นแหละจึงจะดำเนินงานได้ และเอาเข้าจริงมีใครหน้าไหนบ้างอยากกำราบมันให้เชื่อง? คนส่วนใหญ่ในโลกที่ร่ำรวยจะไม่ยอมเสียสละรถยนต์หรือวันหยุดของตนโดยไม่สู้รบ ปรบมือสักตั้งหรอก
มีบางคน-ซึ่งอาจเป็นคุณด้วย-เชื่อว่า ไม่ควรพูดสิ่งเหล่านี้ออกมาต่อให้มันจริงก็ตามเพราะขืนพูดคนจะหมด "หวัง" และหากสิ้นหวังแล้ว ก็ไม่มีโอกาสจะ "กอบกู้ดาวเคราะห์โลก" ได้ แต่ความหวังลมๆ แล้งๆ มันเลวร้ายกว่าหมดหวังเสียอีก ส่วนเรื่องการกอบกู้ดาวเคราะห์โลกน่ะ-เอาเข้าจริงที่เรากำลังพยายามจะกอบกู้ ระหว่างตะเกียกตะกายติดตั้งกังหันลมบนภูเขาและตะโกนด่าพวกรัฐมนตรีนั้นไม่ ใช่ดาวเคราะห์โลกหรอก แต่คือการยึดมั่นถือมั่นวัฒนธรรมเชิงวัตถุของตะวันตกต่างหาก ซึ่งเราจินตนาการไม่ออกว่าจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไรถ้าไม่มีมัน
สิ่งท้าทายเราไม่ใช่เรื่องที่ว่าจะค้ำจุนจักรวรรดิซึ่งกำลังเสื่อม สลายลงด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังคลื่นและการประชุมสุดยอดระดับโลกอย่างไร แต่เป็นประเด็นที่ควรเริ่มคิดได้แล้วว่าเราจะเอาตัวรอดการล่มจมของจักรวรรดิ อย่างไร และเราจะสามารถเรียนรู้อะไรจากการล่มสลายของมันได้บ้าง
ด้วยปรารถนาดี
พอล